ประวัติความเป็นมาวัดธรรมโฆษณ์
วัดธรรมโฆษณ์ มีใบอนุญาตให้ตั้งวัด “เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2284” มีเนื้อที่ตามเอกสารสิทธิ์ 23 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา มีคำบอกเล่าสืบ ๆ กันมาว่า ชาวบ้านมีจิตศรัทธาถวายที่นาให้เป็นที่สร้างวัดโดยสภาพทั่วไปเป็นที่นา ราบลุ่มริมคลอง ไม่มีหลักฐานใด ๆ บันทึกถึงเจ้าอาวาสก่อนสมัยพ่อท่านคงไว้”
วัดธรรมโฆษณ์ ณ ปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ 190 หมู่ที่ 3 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จากประวัติบอกเล่า และข้อมูลที่นายอำนวย สงนวล ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสิงหนคร ได้บันทึกไว้ว่า “แต่เดิมลักษณะทางด้านกายภาพของวัดธรรมโฆษณ์เป็นที่นา มีหนองน้ำใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า หนองโคตร ชื่อหนองโคตรดังกล่าวจึงใช้ติดเป็นชื่อบ้านว่า บ้านหนองโคตร เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นอย่างช้า”
บ้านหนองโคตรหรือหนองโคด หรือหนองโฆต ได้เปลี่ยนมาเป็นบ้านธรรมโฆษณ์ในปัจจุบัน นายบุตร ปานประดิษฐ์ เล่าว่า คนรุ่นปู่ย่าตายาย เล่าให้ฟังว่า “แต่เดิมบ้านนี้ชื่อว่าบ้านหนองโคตร ต่อมามีเจ้านายระดับสูงเดินทางมายังชุมชนแห่งนี้ ได้ฟังชื่อว่า บ้านหนองโคตร เห็นว่าไม่เพราะ จึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ เป็นบ้านธรรมโฆษณ์ ทำให้ชื่อชุมชนและชื่อวัดเปลี่ยนมาเป็นดังชื่อที่ใช้ตราบถึงปัจจุบัน” ชื่อของบ้านหนองโครต มีเค้าเรื่องราวสอดคล้องกับที่ นายห้วน บุญกำเนิด กล่าวไว้จากการฟังสิ่งที่คนรุ่นปู่ย่าตายาย เล่าว่า “แต่ก่อนพ่อท่านคงท่านบรรพชาและอุปสมบทที่วัดบ่อบาปนี้ แต่พระอุปัชฌาย์ คือ พ่อท่านทองขวัญ ส่งไปอยู่ที่สำนักสงฆ์หนองโคตร” ข้อมูลคำบอกเล่าดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าในขณะที่พระคงเดินทางมาปกครองวัดธรรมโฆษณ์นั้น ถึงแม้มีหลักฐาน การจดทะเบียนเป็นวัดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วก็ตาม แต่ในห้วงเวลาที่พระคงมารับหน้าเป็นเจ้าอาวาสนั้น กล่าวไว้ว่า วัดแห่งนี้มีความทรุดโทรมอยู่มาก เพราะในมุมองของชาวบ้านยังมีความเข้าใจว่าเป็นเพียงสำนักสงฆ์ เป็นไปในทำนองเดียวกันกับ นายเกลี้ย พิทักษ์ ให้ข้อมูลไว้ว่า “สระโคตร หรือหนองโคตร แต่ก่อนพระสงฆ์
ในละแวกนี้ ใช้เป็นสถานที่เข้าปริวาสกรรม เมื่อพ่อท่านทองขวัญ ท่านมีดำริจะพัฒนาให้เป็นวัดที่สมบูรณ์จึงส่งพระคงมาเป็นเจ้าอาวาส”
หากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น มีข้อสันนิษฐานว่า เมื่อมีหลักฐานการจัดตั้งเป็นวัดมาตั้งแต่สมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยาแล้ว ดังนั้น วัดแห่งนี้จึงน่าจะเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่อาศัยมาก่อน และมีการประกอบ สังฆกรรมเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ โดยทั่วไป แต่เป็นการประกอบสังฆกรรมในอุโบสถน้ำซึ่งนิยมกันในสมัยนั้น ที่เรียกว่า “อุทกุกเขปสีมา” เพราะจากคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนพบว่า มีเจดีย์โบราณอยู่ภายในวัดซึ่งตั้งอยู่ ในบริเวณบ่อน้ำหน้าพระอุโบสถหากประมาณอายุแล้วคงเป็นเจดีย์ที่มีความเก่าแก่ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นได้ หากมีการขุดค้นอาจพบหลักฐานที่สามารถบอกความเก่าแก่ของวัดได้อีกทางหนึ่ง ในกรณีที่วัดมีมาก่อนการประกาศจัดตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ข้อสันนิฐานนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า ได้เป็นวัดมาก่อนแต่เกิดความทรุดโทรมและรกร้าง พ่อท่านทองขวัญจึงได้ส่งพ่อท่านคงมาบูรณะและพัฒนาในฐานะเจ้าอาวาสรูปแรกวัดธรรมโฆษณ์