"ทวดหัวเขาแดง" เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหัวเขาแดง คนท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นเทพที่สถิตอยู่ ณ หัวเขาแดง ปากน้ำเมืองสงขลา มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เชื่อว่าท่านจะคุ้มครอง ป้องกันรักษา และให้โชคแก่เมืองสงขลา ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการสร้างศาลาประดิษฐานทวดหัวเขาแดงไว้อย่างถาวร เป็นสถาปัตยกรรมจีน คล้ายศาลาเรียกว่า "ศาลาทวดหัวเขาแดง" ภายในศาลาแห่งนี้มีรูปจำลองแกะสลักของ "ทวดเขาแดง" และ "พระเอ็งบ้วนต๊ะ" เทพองค์สำคัญองค์หนึ่งของฝ่ายบุ๋น เป็นแม่ทัพที่ชาวจีนต่างนับถือมาก ตามคำบอกเล่า..ช่วง พ.ศ. 2488 มีชาวไทยคนหนึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีนชื่อ "นางเผ็ก" ซึ่งนางเผ็กได้อันเชิญพระเอ็งบ้วนต๊ะ องค์เล็กกลับมาด้วย 1 องค์ เพื่อช่วยคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัย เมื่อเดินทางมาถึงเมืองสงขลา นางเผ็กก็ได้ทำการอันเชิญพระเอ็งบ้วนต๊ะ มาประดิษฐาน ณ ศาลาทวดหัวเขาแดง ต่อมาพระเอ็งบ้วนต๊ะ ก็ได้อันตรธานหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ด้วยกาลเวลากว่า 100 กว่าปี ส่งผลให้ศาลาหัวเขาแดงชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2516 "นางเปีย ฮวดอุปัด" ได้ขออนุญาตบูรณะศาลเจ้า ต่อกรมศิลปากร พร้อมแบบแปลนสถาปัตยกรรมจีนแบบดั้งเดิม เมื่อครั้นเริ่มบูรณะ... "พระเอ็งบ้วนต๊ะ" ได้ประทับทรง และบอกให้ไปตามหาพระเอ็งบ้วนต๊ะองค์เล็กที่หายไปกลับมา และเป็นเรื่องที่น่าปาฏิหาริย์ เมื่อนางเปียตามหาองค์พระจนเจอ โดยได้คืนมาจากชาวจีน ที่ถนนเพชรคีรี ตำบลบ่อยาง ขณะที่บูรณะอยู่ ก็ได้มีชาวปีนังเดินทางมาหาดใหญ่ และได้นำพระเอ็งบ้วนต๊ะองค์ใหญ่ มาประดิษฐาน ณ ศาลาหรือศาลเจ้า หลังจากบูรณะศาลเจ้าเสร็จ นางเปียก็ได้สร้างรูปปั้นปูนปู่ทวดหัวเขาแดง เพื่อเอาไว้สักการะ
มีความเชื่อว่า "ปู่ทวดหัวเขาแดง" คอยคุ้มครองเมืองและประชาชนชาวสงขลาให้แคล้วคลาดจากภัยธรรมชาติ เช่น ปี พ.ศ. 2505 ได้เกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพายุไต้ฝุ่นได้พัดเข้ามาที่ปากอ่าวสงขลา ปู่ทวดหัวเขาแดงและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมืองสงขลา ได้ช่วยกันต้านทานและขจัดปัดเป่าไม่ให้พายุเข้าสู่เมืองสงขลาได้ โดยมีการสันนิษฐานว่าบริเวณใกล้ที่ตั้งของศาลแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นป้อมปราการมาก่อน