ประวัติความเป็นมาของบ้านปากบางภูมี
เขียนบนมกราคม 10, 2012
*บ้านปากบางภูมีมีความหมายถึงบริเวณปากน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา บ้านปากบางมีคลองภูมีซึ่งต้นกำเนิดของคลองไหลมาจากน้ำตกบริพัตร ในพื้นที่ของอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และเป็นบริเวณปากน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา โดยทั่วไปชาวบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ริมทะเลมักจะเรียกบริเวณปากน้ำ้ว่า “บาง” เช่น ปากบางภูมี บางเหรียง บางหยี บางโหนด เป็นต้น
ในสมัยก่อนมีต้นโพธิ์ต้นสูงใหญ่ขึ้นอยู่เห็นได้ชัดบริเวณปากคลอง ประกอบกับทะเลสาบบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นอ่าว ทำให้ชาวบ้านเรียกชื่อบ้านว่า “อ่าวโพธิ์” ซึ้งในปัจจุบันก็ยังคงเรียกกันอยู่
คลองภูมีเป็นลำคลองกว้างใหญ่ ที่มีความสำคัญด้านการค้าขาย การคมนาคมการสัญจรไปมาของเรือสินค้า เป็นศูนย์กลางตลาดนัดที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในตลาดนัดบ้านกรอบ (หมู่๕ ตำบลรัตภูมิ) โดยกำหนดในให้มีตลาดนัดในทุกวันจันทร์ แต่ตลาดนัดบ้านกรอบจะตรงกับวันอาทิตย์ และชาวบ้านยังเชื่อกันอีกว่าน้ำในคลองภูมี(คลองภูมีเดิมที่ไหลผ่านบริเวณหน้าวัดคงคาวดี/ผู้เรียบเรียง)เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และใสสะอาดทำให้มีพ่อค้าหรือชาวบ้านมาเอาน้ำไปดื่มไปใช้ และมาติดต่อทำการค้าขาย เช่นมาจากป่าขาด สะทิ้งหม้อ ตากลม(ตาก-ลม) ปากรอ ชะแล้ บางโหนด เป็นต้น อีกทั้งเดิมบ้านปากบางภูมีได้เป็นที่ตั้งของกิ่งอำเภอชื่อ “รัฐภูมี” ในสมัยนั้นการปกครองขึ้นอยู่กับอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้ยกฐานะเป็นอำเภอชื่อว่า “อำเภอรัฐภูมี” โดยใช้บ้านปากบางเป็นสถานที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากปากบางไปตั้งอยู่หมู่ที่๑ ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัฐภูมิ ซึ่งเป็นที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอรัตตภูมิและรัตภูมิ ตามลำดับ ขึ้นตรงกับจังหวัดสงขลา ซึ่งจากการสัญจรไปมาทางเรือ ชาวบ้านได้พบเห็นต้นโพธิ์ใหญ่บริเวณปากน้ำก็เลยเรียกชื่อบ้านนี้ว่า “บ้านปากน้ำโพธิ์มี” และต่อมาภายหลังได้เรียกชื่อเพี้ยนเป็น “บ้านปากบางภูมี” จนถึงปัจจุบัน….
*ที่มา:ตำนาน ศิลปวัฒนธรรมอำเภอควนเนียง สภาวัฒนธรรม อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา