เทศกาลลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี หรืออยู่ในราวเดือนพฤศจิกายนถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่มีตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยเรียกกันว่า งานลอยพระประทีป หรือลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลง เป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม เชื่อกันว่าการลอยกระทง หรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศนั้น กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมหานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ใน แคว้นทักขิณาของประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบัน เรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลองหรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทง มีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
1. การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
2. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
3. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
4. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
5. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
6. การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
7. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
ลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เพราะพระจันทร์เต็มดวง ทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลากลางคืนเป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง เดิมพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวรพระนารายณ์ และพระพรหม ครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนา ก็ทำพิธียกโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมฆทานที ประเทศอินเดีย
การลอยกระทงตามสายน้ำนี้ นางนพมาศ สนมเอกของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย คิดทำกระทงรูปดอกบัว และรูปต่างๆถวายพระร่วงทรงให้ลอยกระทงตามสายน้ำไหล ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระร่วงตรัสว่า "แต่นี่สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอย เป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมฆทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน" ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการทำกระทงขนาดใหญ่และสวยงาม ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพาราชวงศ์ กล่าวไว้ว่า "ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่งพิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมาทำกระทงใหญ่ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้างทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด 10 ศอก 11 ศอกทำประกวดประขันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆบ้างวิจิตรไปด้วยเครื่องสดคนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่าง เบ็ดเสร็จก็ถึง 20 ชั่งบ้างย่อมกว่า 20 ชั่งบ้าง" ปัจจุบันประเพณีลอยกระทง มีการจัดงานกันแทบทุกจังหวัด ถือเป็นงานประจำปีที่สำคัญ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่มีการจัดขบวนแห่กระทงใหญ่ กระทงเล็ก มีการประกวดกระทงและประกวดธิดางามประจำกระทงด้วย ส่วนการลอยโคม ชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสานยังนิยมทำกัน ชาวบ้านจะนำกระดาษ มาทำเป็นโคมขนาดใหญ่สีต่างๆถ้าลอยตอนกลางวัน จะทำให้โคมลอยโดยใช้ควันไฟ ถ้าเป็นเวลากลางคืน ก็จะใช้คบจุดที่ปากโคม ให้ควันพุ่งเข้าในโคม ทำให้ลอยไปตามกระแสลมหนาว เวลากลางคืนแลเห็นแสงไฟโคมบนท้องฟ้าพร้อมกับแสงจันทร์และดวงดาวสวยงามมากทีเดียว
ประวัติการลอยกระทงในประเทศไทย
การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือ ลอยโคมเป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแค้วนทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา
ขอบคุณข้อมูลจาก Mthai.com